ความเป็นมาของโครงการ
เนื่องด้วยนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การวางแผนลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และสิ่งอำนวยความสะดวกการบริการภาครัฐ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจรองรับ 10 อุตสาหกรรมการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล และการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตเมืองพัทยามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับจำนวนประชากรที่เข้ามาทำงานในภาคธุรกิจในเมืองพัทยาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีผลให้เมืองพัทยาประสบปัญหาการจราจรติดขัดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และในวันหยุดเทศกาลระยะยาว เมืองพัทยาจึงมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มพื้นที่การจราจรโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นความสำคัญในระดับต้น ๆ โดยเฉพาะถนนที่อยู่ในโครงข่ายของผังเมืองรวมเมืองพัทยาที่ได้กำหนดเส้นทางบังคับไว้ เพื่อการรองรับสภาพการจราจรหนาแน่นในปัจจุบัน และการขยายตัวของพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เพื่อให้ทันกับสภาพการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองพัทยา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเห็นสมควรในการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว โดยได้เล็งเห็นว่าถนนสาย ฌ 16 ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 นั้นมีศักยภาพในการเชื่อมโยง พื้นที่เมืองพัทยา บริเวณหาดจอมเทียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรมกับพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนเมืองรองรับการเติมโตในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงและสนับสนุนการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นสนามกีฬา สนามแข่งขัน และสนามฝึกซ้อมที่มีมาตรฐาน สามารถรองรับการแข่งขันระดับนานาชาติตามนโยบายเมืองพัทยาที่จะดำเนินพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางกีฬาภาคตะวันออก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองแห่งการกีฬารวมทั้งเพื่อส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนของเมืองพัทยา
นอกจากนี้การพัฒนาโครงการจะช่วยเพิ่มคุณภาพการให้บริการของโครงข่ายถนนให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางแบบเป็นลำดับชั้น (Hierarchy of Highway) สามารถรักษาความสามารถในการเคลื่อนที่ (Mobility Function) ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ (Accessibility Function) และเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจร ลดข้อจํากัดด้านการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากระบบคมนาคมและขนส่ง เป็นการส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาเมืองพัทยาให้มีบทบาทการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับนานาชาติในด้านธุรกิจ/บริการ สอดคล้องกับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่ต้องการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว
ดังนั้นเมืองพัทยาจึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการ สำรวจและออกแบบรายละเอียด ในขั้นนี้เพื่อนำไปสู่การดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินการเวนคืน และดำเนินการก่อสร้างโครงการในระยะต่อไป